ประวัติ โดยย่อ Allbirds
รองเท้าใส่สบาย ตอบโจทย์สายรักษ์โลก
เมื่อ Allbirds โดดเข้ามาเขย่าวงการรองเท้าให้สั่นสะเทือน กับปรากฏการณ์ที่จุดกระแสให้คนดังหลากหลายวงการกลายมาเป็นลูกค้าเจ้ารองเท้าแบรนด์สตาร์ทอัพ ที่ทำเงินไปกว่าพันล้านเหรียญสหรัฐ และมีอายุบริษัทเพียง 3 ปีเท่านั้น แบรนด์รองเท้าที่ได้ขึ้นว่า เป็นรองเท้าที่ใส่สบายที่สุดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เราจะไปทำความรู้จักกับรองเท้าแบรนด์นี้กัน
ความคิดจุดประกายกับการอยากได้รองเท้าดี ๆ สักคู่
จุดเริ่มต้นของ Allbirds มาจาก “ทิม บราวน์” พ่อหนุ่มแข้งทอง อดีตรองกัปตันทีมฟุตบอลทีมชาตินิวซีแลนด์ ที่มานั่งคิดว่ารองเท้าที่เขาใส่ลงแข่งส่วนใหญ่มีแต่รองเท้าที่ทำมาจากวัสดุสังเคราะห์แข็ง ๆ เน้นสีสันฉูดฉาด กระแทกสายตา แล้วยังต้องให้ลูกค้าอย่างเรา ๆ ช่วยโปรโมทแบรนด์สินค้าผ่านโลโก้ที่ติดหราบนรองเท้านั่นอีก ในระหว่างการไปเรียน MBA ที่อังกฤษ เขาจึงมีความคิดที่อยากจะทำรองเท้าที่ตัวเองชอบ เน้นความเรียบง่าย ใส่สบาย และเป็นรองเท้าที่เน้นความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากรองเท้าส่วนใหญ่จะผลิตมาจากวัสดุสังเคราะห์ที่มีผลทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก
โดยรองเท้า Allbirds จะใช้วัสดุหลักจากธรรมชาติ 2 อย่าง ได้แก่ ขนแกะพันธุ์เมอริโน (Merino) ที่มีคุณสมบัติในเรื่องของความนุ่ม ละเอียด เบา ทนทาน และระบายอากาศได้ดี โดยทั่วไปแล้วขนแกะสายพันธุ์นี้จะใช้ในการผลิตเสื้อผ้าให้กับแบรนด์ระดับ Hi-end และยังเป็นสินค้าเศรษฐกิจที่สำคัญ นั่นทำให้เขาได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐกว่า 2 แสนเหรียญสหรัฐฯ ในเวลาต่อมา วัสดุอย่างที่ 2 นั่นคือ เยื่อจากต้นยูคาลิปตัน
ที่ผ่านการปลูกตามมาตรฐาน FSC™ (Forest Stewardship Council™) เป็นมาตรฐการการจัดการป่าไม้โดยจะมีการปลูกต้นไม้ใหม่ทันทีที่มีการตัด เพื่อให้ต้นไม้เป็นตัวช่วยดูดซับก๊าซภาวะเรือนกระจกไปกักไว้ในดินนั่นเอง ส่วนพื้นเท้านั้นทำมาจากชานอ้อย เป็นขยะจากโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศบราซิล
จากสตาร์ทอัพน้องใหม่ก้าวขึ้นแท่นยูนิคอร์น
Unicorn คือ ธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในต่างประเทศเราจะเห็นสตาร์ทอัพเจ้าดังใน Silicon Valley อย่าง Airbnb, Snapchat, Uber และแน่นอนว่า Allbirds ใช้เวลาเพียง 3 ปีที่กระโดดทะยานขึ้นมาเทียบชั้นบริษัทสตาร์ทอัพเจ้าดัง ๆ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากการเริ่มต้นได้เงินจากภาครัฐ ระดมทุนเข้าแพลตฟอร์ม Kickstarter ซึ่งภายในระยะเวลา 4 วัน ขายรองเท้าได้สูงถึง 195,000 เหรียญสหรัฐ
Eco-Friendly Sneaker
อย่างที่กล่าวไปในข้างต้นว่า รองเท้า Allbirds เป็นรองเท้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากใช้วัสดุที่ผลิตจากธรรมชาติเกือบ 100% โดยปัจจุบันมีรูปแบบของรองเท้าทั้งหมด 7 รูปแบบ ได้แก่ Running Shoes, Everyday Sneakers, Slip-Ons, Flats, Boats Shoes, High tops และ Weather Repellent Shoes นอกจากจะใช้วัสดุหลัก ๆ อย่างขนแกะและเยื่อจากต้นยูคาลิปตัน รวมถึงชานอ้อยจากโรงงานอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลแล้วนั้น วัสดุสังเคราะห์ที่จำเป็นต้องใช้ ยังเลือกวัสดุที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ นอกจากนี้ ทางบริษัท Allbirds ยังตั้งเป้าบริษัทมีก๊าซเรือนกระจกที่เป็นศูนย์ โดยรองเท้า 1 คู่ จะสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Footprint) เพียง 10 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับบริษัทรองเท้าอื่น ๆ นั่นจึงเกิดการ Collab ร่วมกับแบรนด์ Adidas ต่อยอดเป็นรองเท้าผ้าใบรุ่นแรกของโลกที่มีรอยเท้าคาร์บอนต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ นั่นหมายความว่า เป็นรองเท้าที่แทบไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนในกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นจนจบ
คำนิยาม “รองเท้าที่ใส่สบายที่สุดในโลก”
และเมื่อพูดถึงจุดเด่นของรองเท้า Allbirds อีกข้อที่ประทับใจผู้ซื้อจำนวนมาก คงหนีไม่พ้น “สวมใส่สบาย” มีคนดังหลากหลายวงการได้การันตีถึงความสบายในการสวมใส่รองเท้า Allbirds ไม่ว่าจะเป็น Michael Brandt Co-Founder ของ Nootrobox สตาร์ทอัพด้านโปรดักซ์ยาและอาหารเสริมในซานฟรานซิสโก บารัก
โอบามา ก็เป็นแฟนตัวยงของ Allbirds เช่นกัน
นอกจากรูปลักษณ์ที่เรียบง่าย เอาใจสายมินิมอลแล้ว ในเรื่องของความสบายก็ไม่แพ้ใคร ยังมีน้ำหนักที่เบา ระบายอากาศได้ดี มีการซัพพอร์ตเท้าเป็นที่น่าพอใจ สามารถยืดหยุ่นไปตามรูปทรงของเท้าได้ดี ดูดซับความชื้นได้อย่างดีเยี่ยม นั่นจะช่วยให้เท้าของเราไม่อับชื้น อีกทั้งยังสามารถใส่ได้โดยไม่จำเป็นต้องใส่ถุงเท้า ก็ยังความสบายเอาไว้ได้ โดยไม่ต้องกังวลว่ารองเท้าจะกัดหรือเสียดสีกับเท้าของเราหรือไม่ คุณสมบัติพิเศษที่ลืมไปไม่ได้เลย นั่นคือ สามารถซักทำความสะอาดได้อย่างง่าย ๆ เพียงแค่โยนเข้าเครื่องซักผ้าที่มีฟังก์ชั่นสำหรับซักผ้าขนสัตว์ได้ เท่านี้ก็สามารถนำมาสวมใส่ สบาย ไร้กังวลแล้วล่ะค่ะ
สำหรับใครที่สนใจรองเท้า Allbirds ต้องอดใจอีกนิดนะคะ เพราะตอนนี้ยังมีช็อปขายแค่เพียงในสหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ อังกฤษ จีน และญี่ปุ่น แต่ถ้าใครสนใจจริง ๆ ก็ต้องสั่งหิ้วอย่างเดียวเท่านั้น ถ้าหากการต้องจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อแลกกับรองเท้าที่ใส่ใจทั้งผู้ใส่และสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน ก็ดูจะเป็นอะไรที่ควรค่าแค่การเสียเงินใช่ไหมล่ะ